กลยุทธ์ในการทำงาน

Spread the love

“วิเคราะห์ชัด  จัดตรงประเด็น  เน้นผลสัมฤทธิ์  ติดตามความก้าวหน้า”

1. วิเคราะห์ชัด  (Critical Thinking)

                  การคิดวิเคราะห์เป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งของการต่อการรับนโยบายต่าง ๆ ของผู้บังคับชามาสู่การปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม มีความสามารถในการจำแนก แยกแยะองค์ประกอบต่าง ๆ ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นวัตถุสิ่งของ เรื่องราว หรือเหตุการณ์และหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้น เพื่อค้นหา สภาพความเป็นจริงหรือสิ่งสำคัญของสิ่งที่กำหนดให้การวิเคราะห์ข้อมูลที่ชัดเจน สามารถนำมาสู่การถ่ายทอดไปสู่ผู้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตรงตามทิศทางของการมอบนโยบายแต่ละระดับ ส่งผลต่อการบริหารคุณภาพการจัดการศึกษาของสำนักงานและของสถานศึกษา
                  1.1. ผู้บริหารสถานศึกษา หมายถึง ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ ต้องมีประเด็นในการจัดระบบความคิดการรับนโยบายจากส่วนกลาง และระดับจังหวัด สามารถนำไปสู่การขยายผลเป็นโครงการ กิจกรรมที่สอดคล้องกับแนวทาง วัตถุประสงค์ตลอดจนเป้าหมายของเรื่องนั้น ๆ อย่างชัดเจน นำพาบุคลากร ครูอาสาสมัคร ครู กศน.ตำบล ครู ศรช. ตลอดจนบุคลากรต่าง ๆ  ในสถานศึกษาปฏิบัติการได้อย่างมีคุณภาพ
                  1.2. ผู้ปฏิบัติการ หมายถึง ข้าราชการครู/ พนักงานราชการทุกตำแหน่ง/ ลูกจ้างประจำ/ครูอาสาสมัคร/ ครู กศน.ตำบล/ ครู ศรช./ ครู ศศช./ ครู กพด./ เจ้าหน้าที่ห้องสมุด/ลูกจ้างชั่วคราวทุกตำแหน่ง มีส่วนร่วมในการคิด วิเคราะห์ การจัดโครงการ กิจกรรมต่าง ๆ และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้

2. จัดตรงประเด็น (Cogent)

                  เป็นความเชื่อมโยงจากกระบวนการคิดวิเคราะห์ การจำแนกแยกแยะเรื่องราวต่าง ๆ ตลอดจนเป้าหมาย ทิศทาง ความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้นได้อย่างแท้จริง การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติจำเป็นต้องอาศัยการบริหารจัดการที่เหมาะสม อันจะเป็นการค้นหาทิศทาง เป้าหมายได้อย่างถูกต้อง
                  การบริหารการจัดการกระบวนการทำงาน หรือการจัดการมีความสำคัญต่อการบริหาร เพราะทุกขั้นตอนมีผลต่อความสำเร็จที่จะทำให้เกิดผลต่อกลุ่มเป้าหมาย ผลิตและผลลัพธ์ ส่งผลให้หน่วยงานสถานศึกษาสามารถดำเนินการตอบสนองความต้องการ การแก้ไขปัญหา และตอบสนองนโยบายได้ นอกจากนี้กระบวนการจัดการยังเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องรู้จักนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ เนื่องจากแต่ละหน่วยงาน สถานศึกษาและหน่วยจัดล้วนแล้วแต่มีปัจจัยของความความสำเร็จที่แตกต่างกันบนพื้นฐานข้อมูลที่แตกต่างกัน สิ่งที่สำคัญจำเป็นต้องใช้หลักการบริหารที่เป็นส่วนขับเคลื่อน ดังนี้
                  1) การวางแผน (Planning) หมายถึง การกำหนดแนวทางการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย โดยเกิดจากการใช้ข้อมูลที่มีข้อเท็จจริงและการคาดการณ์ล่วงหน้าเพื่อเป็นแนวทางในการทำงานในอนาคต
                  2) การจัดองค์กร (Organizing) หมายถึง การจัดระเบียบหรือโครงสร้างของการทำงานภายในหน่วยงาน สถานศึกษาให้เป็นระเบียบและอยู่ในส่วนประกอบที่เหมาะสม เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์และช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จ
                  3) การบังคับบัญชาสั่งการ (Commanding) หมายถึง ภาระหน้าที่ของผู้บริหารในการใช้ความสามารถชักจูงหรือโน้มน้าวให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ปฏิบัติตามคำสั่ง จนสามารถทำให้หน่วยงาน สถานศึกษาบรรลุผลสำเร็จได้
                  4) การประสานงาน (Coordinating) หมายถึง การจัดให้ทรัพยากรบุคคลภายในองค์กรทำงานประสานสัมพันธ์สอดคล้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ตลอดจนการเชื่อมโยงไปถึงเครือข่ายของภาคส่วนราชการ ภูมิปัญญาท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน เพื่อให้การดำเนินงานราบรื่นและบรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ
                  5) การควบคุม (Controlling)  หมายถึง กระบวนการทำงานเริ่มตั้งแต่การกำหนดมาตรฐานการกำกับ ติดตาม การพัฒนาการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชาตามแผนงาน โครงการ และกิจกรรมทำให้เกิดการเสริมแรงทางบวก เพิ่มพูนทักษะ และองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในการปฏิบัติงานที่มีความสอดคล้องกับการปฏิบัติงาน            

3. เน้นผลสัมฤทธิ์ (Result)

                  การทำงานที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ หมายถึง แผนงาน โครงการ ที่ได้ดำเนินการผ่านกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้การศึกษาดูงาน การฝึกทักษะจากการจัดประสบการณ์ตรงจากแหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญา ศาสตร์ของพระราชา ที่เป็นความรู้หรือองค์ความรู้แล้วบังเกิดผลผลิตและผลลัพธ์ต่อกลุ่มเป้าหมายโดยตรง สามารถนำไปใช้ได้อย่างชัดเจน โดยมีรูปแบบการทำงานมุ่งผลสัมฤทธิ์ ดังนี้
                  1) การบริหารจัดการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ (Management) ผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีความสามารถในการวางแผนยุทธศาสตร์ วางแผนการปฏิบัติการ จัดโครงสร้างองค์กรที่สนับสนุนในการบริหารทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการระดมทรัพยากรจากแหล่งต่างๆ มาใช้และสร้างช่องทางการมี่ส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมาย ทิศทางการพัฒนาการศึกษาที่ชัดเจนตรงกับสภาพปัญหา ความต้องการของงกลุ่มเป้าหมาย สอดคล้องกับนโยบาย เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ ฐานข้อมูลต่าง ๆ ของชุมชน
                  2) การบริหารจัดการหลักสูตร การจัดกิจกรรมการเรียนรู้และการจัดการเรียนสอน (Curriculum and Instruction Management) ผู้บริหารสถานศึกษาต้องให้ความสำคัญของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมาย เน้นทักษะความสามารถและคุณภาพของวิทยากร ครูอาสาสมัคร/ ครู กศน.ตำบล/ ครู ศรช./ ครู ศศช./ ครู กพด. และข้าราชการครู มีความสามารถในการออกแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ การนิเทศกิจกรรมงาน กศน. การประเมินผลการจัดกิจกรรม การสร้างและพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาการกำกับติดตามดูแลการใช้หลักสูตร กระตุ้นให้กำลังใจครูและกลุ่มเป้าหมายในการจัดการเรียนการสอนและการเรียนรู้
                  3) การพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของรองผู้อำนวยการ ผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการ พนักงานราชการ ครูอาสาสมัคร ครู กศน.ตำบล ครู ศศช. ครู กพด. และบุคลากร ให้มีขีดความสามารถในการบริหารและการจัดกิจกรรมตามภาระงานในหน้าที่ ที่ส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายสามารถพัฒนาตนเองได้ตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ

4. ติดตามความก้าวหน้า (Progress)

                  การติดตามและการควบคุมเป็นส่วนสำคัญของการบริหารแผนงานโครงการต่าง ๆ ในแต่ละช่วงของการจัดกิจกรรมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งมีความสำคัญสามารถให้แผนได้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย กระตุ้นจูงใจและสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงาน ป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ และที่สำคัญให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เห็นเป้าหมาย วัตถุประสงค์ หรือมาตรฐานของงานได้ชัดเจน
                  การติดตาม หมายถึง กระบวนการของการวัดหรือการตรวจสอบที่ทำเป็นช่วง ๆ การวัดและการตรวจสอบได้แก่ การนำเข้า (Input) กระบวนการ (Process) และผลผลิต (Output) ที่เกิดขึ้นในช่วงการดำเนินงานตามแผน โดยทั่วไปมักติดตามในด้านการจัดหา การเคลื่อนย้ายและการนำทรัพยากรของโครงการมาใช้ว่าเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในแผนและกำหนดการหรือไม่ วัตถุประสงค์ของการติดตามก็คือ ต้องการชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ของโครงการให้เร็วที่สุดที่จะเร็วได้ ในเรื่องเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากร การปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ หรือผลผลิตของโครงการเพื่อจะได้จัดการแก้ไข ปรับปรุงสถานการณ์ต่าง ๆ ของโครงการที่เป็นไปทันท่วงที การติดตามแบ่งได้ ๓ ประเภท ได้แก่
                    1) การติดตามผลการปฏิบัติงาน
                    2) การติดตามประสิทธิภาพของโครงการ
                    3) การติดตามประเมินผลของโครงการ
                                    (1) การติดตามผลการปฏิบัติงาน ได้แก่ การติดตามดูว่าการปฏิบัติงานตามโครงการนั้นได้ผลงานก้าวหน้าไปในทิศทางที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติงานตลอดจนงบประมาณที่กำหนดไว้หรือไม่
                                    (2) การติดตามประสิทธิภาพของโครงการ ได้แก่ การศึกษาติดตามดูว่าเมื่อมีการปฏิบัติงานเพื่อให้ได้ผลผลิตของโครงการออกมานั้น ได้ใช้กรรมวิธีการผลิต หรือวิธีดำเนินงาน ที่ประหยัดที่สุดหรือไม่ โดยอาจจะมีการเทียบเคียงให้เห็นสัดส่วนของผลผลิตกับปัจจัยนำเข้าของโครงการ
                                    (3) การติดตามประเมินผลโครงการ ได้แก่ การศึกษาติดตามดูว่าการปฏิบัติงานตามโครงการนั้นก่อให้เกิดผลผลิตตามที่กำหนดไว้หรือไม่ และผลผลิตที่เกิดขึ้นดังกล่าวสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการได้มากน้อยเพียงใด
                    การควบคุม หมายถึง กระบวนการที่กระทำให้มั่นใจว่าการปฏิบัติงานได้ดำเนินการไปตามแผนที่กำหนดไว้ หรือถ้าจะให้ความหมายที่ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของผู้ควบคุมชัดเจนขึ้น หมายถึงการบังคับกิจกรรมต่าง ๆ เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ โดยแบ่งตามลักษณะของสิ่งที่ถูกควบคุมออกเป็น 5 ประเภท
                                    1. การควบคุมผลการปฏิบัติงาน (Pr0duct Control)  เป็นการควบคุมผลผลิตของโครงการ เพื่อจัดการให้โครงการผลิตได้ปริมาณตามที่กำหนดไว้ในแผน เรียกว่า การควบคุมปริมาณและการควบคุมให้ผลผลิตที่ได้มีลักษณะและคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้เรียกว่าการควบคุมคุณภาพ การควบคุมนี้รวมถึงการควบคุมเวลาของโครงการด้วย คือการควบคุมโครงการสามารถผลิตผลงานได้ปริมาณและคุณภาพตามช่วงเวลาที่กำหนด
                                    2. การควบคุมบุคลากร (Personal or Staff Control) เป็นการควบคุมพฤติกรรมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานโครงการ โดยควบคุมให้ปฏิบัติงานตามวิธีที่กำหนดไว้ และให้เป็นไปตามกำหนดโครงการ ควบคุม บำรุงขวัญบุคลากร ความประพฤติ ความสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบ ตลอดจนควบคุมด้านความปลอดภัยของบุคลากรด้วย
                                    3. การควบคุมด้านการเงิน (Financial Control) ได้แก่การควบคุมการใช้จ่าย การควบคุมทางด้านงบประมาณ ตลอดจนการควบคุมทางด้านบัญชีต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อให้โครงการเสียค่าใช้จ่ายต่ำที่สุดและมีเหตุผลเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม
                                    4. การควบคุมทรัพยากรทางกายภาพ (Control of Physical Resources) ได้แก่ การควบคุมใช้จ่ายทรัพยากรประเภท วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ อาคารและที่ดินตลอดจนแรงงานในการเป็นปัจจัยนำเข้าของโครงการเพื่อให้เกิดการประหยัดในการใช้ทรัพยากรดังกล่าว
                                    5. การควบคุมเทคนิควิธีการปฏิบัติงาน (Control of Techniques or Procedure) ได้แก่ การควบคุมกำกับดูแลเทคนิคและวิธีปฏิบัติงานให้ถูกต้องตามหลักวิชาที่กำหนดไว้ เสริมสร้างและการพัฒนาให้บุคลากรสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้สอดคล้องและเหมาะสมต่อการทำหน้าที่แต่ละประเภท โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มเป้าหมาย ต้องเป็นไปตามวิถีชีวิตของกลุ่มเป้าหมาย